Bullet Icon2 คลิกนิกหมอปิยนันท์
Bullet Icon2 คลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรม จิตเวช หมอปิยนันท์
Bullet Icon2 ตรวจรักษาโรคจิตเวชผู้ใหญ่
Bullet Icon2 ตรวจรักษาโดย พญ.ปิยนันท์ สงห้อง
Bullet Icon2 281 ถ.สามชัย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา (ข้างโรงแรมเก็นติ้ง ตำแหน่งเดิมคลินิกหมอศักดิ์ชัย)
Bullet Icon2 โทร. 074-223885 
       

โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว หรือโรคไบโพลาร์ (Bipolar disorder)

   
 

            เป็นความผิดปกติทางอารมณ์อย่างหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีลักษณะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมาระหว่างอารมณ์ซึมเศร้า (major depressive episode) สลับกับช่วงที่อารมณ์ดีมากกว่าปกติ (mania หรือ hypomania episode) ซึ่งอาการเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยทั้งในด้านการงาน การประกอบอาชีพ ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น และการดูแลตนเองอย่างมาก ทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติ

 
 

         ในระยะซึมเศร้า ผู้ป่วยจะมีอาการต่อไปนี้ติดต่อกันยาวนานมากกว่า 2 อาทิตย์ คือจะรู้สึกเบื่อหน่ายไปหมด จากเดิมชอบอ่านหนังสือ ติดละคร หรือดูข่าว ก็ไม่สนใจ บางคนจะมีอาการซึมเศร้า อารมณ์อ่อนไหวง่าย ร้องไห้ง่าย บางคนจะหงุดหงิดง่ายขี้โมโห ทนเสียงดังไม่ได้ ไม่อยากให้ใครมาวุ่นวาย อาการเบื่ออาจเป็นมากจนไม่อยากคุยกับใคร รู้สึกเบื่ออาหารได้ทำให้น้ำหนักลด ความจำก็แย่ลง ทำให้มักหลงลืมเพราะสมาธิไม่ดี ใจลอย ตัดสินใจอะไรก็ไม่ได้ เพราะไม่มั่นใจ ผู้ป่วยจะมองสิ่งต่างๆ ในแง่ลบ  คิดว่าตัวเองเป็นภาระของคนอื่น  รู้สึกไร้ค่า ไม่มีค่า  ไม่มีใครสนใจตนเอง อนาคตคงเลวร้าย ถ้าตายไปคงจะดีจะได้พ้นทุกข์เสียที ซึ่งอาการจะเหมือนคนเป็นโรคซึมเศร้า

       
 

         ในระยแมเนีย ผู้ป่วยจะมีอาการเปลี่ยนไปอีกขั้วหนึ่งเลย คือจะมีความมั่นใจในตัวเองสูงมาก  รู้สึกว่าตัวเองเก่ง ตัวเองมีความสามารถ ความคิดแล่นเร็วจนบางครั้งตัวเองก็พูดไม่ทันความคิด  การพูดจาจะลื่นไหล พูดเก่ง พูดมาก คล่องแคล่ว มนุษยสัมพันธ์ดี  อารมณ์ดี  ใช้จ่ายเกินตัว มีโครงการต่างๆที่จะทำมากมายแต่เป็นโครงการที่ไม่มีทางเป็นไปได้หรือเกินตัว  ไม่นอนต้องการการพักผ่อนน้อยกว่าปกติ ด้วยความที่สนใจสิ่งต่างๆ มากมาย จึงทำให้วอกแวกมาก ไม่สามารถอดทนทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นานๆ ทำให้มองเหมือนว่าผู้ป่วยทำงานเยอะ แต่ก็ไม่เสร็จเป็นชิ้นเป็นอันสักอย่าง ขาดความยับยั้งชั่งใจพอนึกอยากจะทำอะไรต้องทำทันที ค่อนข้างเอาแต่ใจตนเอง หากมีใครมาห้ามหรือขัดใจจะโกรธรุนแรงถึงขั้นอาละวาดก้าวร้าวได้

   

 

 
 

สาเหตุ
โรคเกิดได้จากหลายปัจจัยร่วมกัน คือ
 
   

1. ปัจจัยด้านพันธุกรรม โดยพบว่าเด็กที่เกิดจากพ่อหรือแม่ที่เป็นโรคนี้มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงกว่าคนทั่วไปถึง 4 เท่า
2. ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมองเช่น norepinephrine, dopamine, serotonine
3. ปัจจัยด้านจิตสังคมเช่น ความเครียดหรือการประสบกับวิกฤติชีวิตรุนแรง การติดยาหรือใช้สารเสพติด รวมทั้งปัญหาบุคลิกภาพ ล้วนมีส่วนส่งผลให้เกิดอาการของโรคนี้ได้

 
       
 

การดำเนินโรค
 
   

          อัตราการเกิดโรคครั้งแรกพบบ่อยที่สุดในช่วงอายุ 15-19 ปี และรองลงมา คือ อายุ 20-24 ปี ถือเป็นโรคที่มีการดำเนินโรคเรื้อรัง และมีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้สูง ประมาณ 70-90% ไบโพลาร์เป็นโรคที่สามารถรักษาได้และกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ หากไม่ได้รับการเอาใจใส่ ติดตามดูแลอย่างเหมาะสม

 
   
 

การรักษา
 
  1. การรักษาด้วยยา แบ่งออกเป็นระยะต่างๆคือ  
   

1.1 การรักษาระยะเฉียบพลัน เป็นการรักษาเพื่อลดอาการของผู้ป่วย และควบคุมอาการให้ดีขึ้นโดยเร็วที่สุดมักอยู่ใน 3-8 สัปดาห์หลังจากเริ่มรักษา

1.2 การรักษาระยะต่อเนื่อง หลังจากที่อาการดีขึ้นแล้ว ผู้ป่วยบางรายอาจยังเหลืออาการอยู่บ้าง ระยะนี้จะยังให้ยาขนาดเดิมกับที่ได้ในระยะเฉียบพลับหรืออาจลดขนาดลงเพื่อลดผลข้างเคียง เป้าหมายเพื่อให้อาการไม่หลงเหลือ และป้องกันการกำเริบซ้ำของอาการ ระยะเวลาประมาณ 2-6 เดือน

1.3 การป้องกันระยะยาว เป้าหมายเพื่อป้องกันการเกิดโรคซ้ำหลังจากอาการดีขึ้นมาก ระยะเวลาแตกต่างกันในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเช่น ความรุนแรงของอาการ ความบ่อยของการเกิด

 
   

 

 
  2. การรักษาด้านจิตสังคม
 

 

2.1 Psychoeducation คือการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและครอบครัวเกี่ยวกับตัวโรคทั้งหมด วึ่งช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจและมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น

2.2 Cognitive behavior therapy มุ่งเน้นที่การปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของผู้ป่วย

2.3 Family Intervention ประกอบด้วยการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและครอบครัว ส่งเสริมให้มีการสื่อสารกันในครอบครัว และช่วยให้ผู้ป่วยกับครอบครัวมีวิธีการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีระยะเวลาของการหายจากตัวโรคนานขึ้น