Bullet Icon2 คลิกนิกหมอปิยนันท์
Bullet Icon2 คลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรม จิตเวช หมอปิยนันท์
Bullet Icon2 ตรวจรักษาโรคจิตเวชผู้ใหญ่
Bullet Icon2 ตรวจรักษาโดย พญ.ปิยนันท์ สงห้อง
Bullet Icon2 281 ถ.สามชัย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา (ข้างโรงแรมเก็นติ้ง ตำแหน่งเดิมคลินิกหมอศักดิ์ชัย)
Bullet Icon2 โทร. 074-223885 

ประกาศ/ประชาสัมพันธ์

โรคจิตเภท (Schizophrenia disorder)

       
 

โรคจิตเภท
(Schizophrenia disorder)

แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
  1. ระยะเริ่มมีอาการ : อาการจะค่อยเป็นค่อยไป ญาติจะสังเกตว่าผู้ป่วยเปลี่ยนไปจากเดิม อาจจะเก็บตัวมากขึ้น มีพฤติกรรมแปลกๆที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเช่น สนใจเรื่องไสยศาสตร์ มีการใช้สำนวนแปลกๆ ไม่ดูแลความสะอาดทั้งกับตนเองและห้องนอน ซึ่งระยะนี้อาจนานเป็นเดือนหรือเป็นปี
   
 

2. ระยะอาการกำเริบ : ระยะนี้ผู้ป่วยจะมีความผิดปกติของอาการชัดเจน อาการที่พบคือ

    2.1 อาการหลงผิด เช่น หลงผิดว่าเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวล้วนแต่เกี่ยวโยงกับตนเอง หลงผิดว่าตนเองเป็นเทพเจ้า หวาดระแวงว่าตนเองถูกกลั่นแกล้ง มีคนปองร้าย ความหลงผิดที่ดึงเรื่องต่างๆ มาเชื่อมโยงกับตนเองเช่น เห็นคนคุยกันก็คิดว่าคุยเรื่องตนเอง อ่านหนังสือพิมพ์ก็รู้สึกว่าเอาเรื่องของตนเองไปเขียน  นอกจากนี้ยังอาจมีความหลงผิดชนิดที่ไม่ค่อยพบในโรคจิตอื่นๆ ได้แก่ ความหลงผิดที่มีลักษณะแปลกๆ เป็นความเชื่อที่ไม่ว่าใครก็รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ เช่น เชื่อว่าตนเองมีเครื่องดักจับสัญญาณคลื่นอยู่ในสมอง  
   

2.2 อาการประสาทหลอน  : คือการมีการรับรู้ทั้งๆ ที่ไม่มีสิ่งกระตุ้น  ที่พบบ่อย คือ เสียงหูแว่ว โดยผู้ที่เป็นมักได้ยินเสียงคนพูดเป็นเรื่องราว และขณะที่ได้ยินก็รู้ตัวดียู่ตลอด ลักษณะที่พบบ่อยคือแว่วเสียงคนพูดคุยกัน หรือวิพากษ์วิจารณ์ตัวผู้ป่วย ประสาทหลอนชนิดที่พบรองลงไปคือ ภาพหลอน อาจเห็นคนใกล้ชิด เห็นเจ้าพ่อเจ้าแม่ ส่วนใหญ่จะเห็นสีสัน รายละเอียดชัดเจน และมักมีหูแว่วร่วมด้วย ประสาทหลอนชนิดอื่นๆ เช่น ได้กลิ่นแปลกๆ หรือลิ้นรับรู้รสแปลกๆ อาจพบได้ แต่ไม่บ่อย

 
   

2.3 อาการด้านความคิด : ผู้ป่วยมักมีความคิดในลักษณะที่มีเหตุผลแปลกๆ ไม่เหมาะสม ตนเองเข้าใจคนเดียว ผู้ป่วยไม่สามารถรวบรวมความคิดให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันได้ตลอด ซึ่งจะแสดงออกมาให้เห็นโดยผ่านทางการพูดสนทนา โดยอาจพูดจาไม่ต่อเนื่องกัน พูดเรื่องหนึ่งยังไม่ทันจบก็เปลี่ยนเรื่องทันที โดยที่อีกเรื่องหนึ่งก็ไม่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องเดิมหรืออาจเกี่ยวเนื่องเพียงเล็กน้อย หรืออาจพบว่าตอบไม่ตรงคำถามเลย หากเป็นมากๆ การวางคำในตัวประโยคเองจะสับสนไปหมด ทำให้ฟังไม่เข้าใจเลย บางคนอาจใช้คำแปลกๆ ที่ไม่มีใครเข้าใจนอกจากตัวเอง

 
   

2.4 อาการด้านพฤติกรรม : พฤติกรรมในช่วงนี้จะเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด บางรายเก็บตัวมากขึ้น อยู่แต่ในห้อง ไม่อาบน้ำหลายๆ วันติดกัน ผมเผ้ารุงรัง กลางคืนไม่นอน ชอบเดินไปมา หรือทำท่าทางแปลกๆ บางครั้งจู่ๆ ก็ตะโกนโวยวายหรือหัวเราะขึ้นมา หรือยิ้มกริ่มทั้งวัน แต่งเนื้อแต่งตัวแปลกๆ เช่น สวมเสื้อผ้าหลายตัวทั้งๆ ที่อากาศร้อน บางรายก้าวร้าว ระแวง หงุดหงิดมากจนทำร้ายผู้อื่นหรือทำลายข้าวของ

 
   

2.5อาการด้านลบ : ไม่กระตือรือร้น เฉื่อยชาลง ไม่สนใจเรื่องการแต่งกาย อาจนั่งอยู่เฉยๆ ทั้งวันโดยไม่ทำอะไร อารมณ์เฉยเมย พูดน้อยหรือไม่ค่อยพูด หรือไม่สนใจคบหาสมาคมกับใคร

 
       
 

3. ระยะอาการหลงเหลือ :  ส่วนใหญ่แล้วอาการต่างๆ ที่กำเริบจะเป็นอยู่ช่วงหนึ่ง เมื่อรักษาก็จะทุเลาลง อาการหลงผิดหรือประสาทหลอนจะหายไป หรืออาจมีแต่ก็น้อย ผู้ป่วยมักยังมีอาการหลงเหลืออยู่บ้าง เช่น มีความคิดแปลกๆ เชื่อในเรื่องไสยศาสตร์หรือโชคลาง อาการด้านลบมักพบบ่อยในระยะนี้
ผลลัพธ์ระยะยาวของโรคพบได้แตกต่างกันมากตั้งแต่โรคทุเลาเหลืออาการน้อยมากไปจนถึงมีอาการของโรคเรื้องรังจนไม่สามารถทำอะไรได้ พบว่าผู้ป่วยประมาณร้อยละ 10-15 ไม่มีอาการอีกเลย แต่ส่วนใหญ่จะมีอาการกำเริบเป็นพักๆสลับกับช่วงอาการสงบร่วมกับมีการเสื่อมลงของการทำหน้าที่ต่างๆและผู้ป่วยประมาณร้อยละ 10-15 ที่มีอาการโรคจิตรุนแรงแบบเรื้อรัง

 
   
  สาเหตุการเกิดโรค
 

1. ปัจจัยทางด้านชีวภาพ

 
   

1. 1 พันธุกรรม ญาติของผู้ป่วยที่เป็นโรคจิตเภทมีโอกาสเป็นโรคสูงกว่าประชากรทั่วไป โรคนี้เกิดจากความผิดปกติของยีนหลายแห่งร่วมกัน ทำให้เกิดความผิดปกติในระดับเซลล์

 
   

1.2ระบบสารชีวเคมีในสมอง เชื่อว่าโรคนี้เป็นจากสารเคมีในสมองที่ชื่อว่าโดปามีน (dopamine)ในบางบริเวณของสมอง มีการทำงานมากเกินไป และซีโรโทนีน (serotonin) ในบางบริเวณมีการทำงานลดลง

 
   

1.3กายวิภาคของสมอง เช่นมีปริมาณเนื้อสมองน้อยกว่าปกติ หรือมีช่องในสมอง (ventricle)โตกว่าปกติ

 
   
 

2. ปัจจัยทางด้านครอบครัวและสังคม
   เดิมเชื่อว่าลักษณะของการเลี้ยงดูบางรูปแบบทำให้เด็กเมื่อโตขึ้นป่วยเป็นโรคนี้ แต่การศึกษาในช่วงปัจจุบันไม่พบหลักฐานสนับสนุนความเชื่อนี้  แต่เราพบว่าสภาพครอบครัวมีผลต่อการกำเริบของโรค พบว่าครอบครัวของผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบบ่อยจะมีลักษณะการใช้อารมณ์ต่อกันสูง (high expressed-emotion)ได้แก่การตำหนิวิพากษ์วิจารณ์  จู้จี้ยุ่งเกี่ยวกับผู้ป่วยมากเกินไป มีท่าทีไม่เป็นมิตร

 
   
  การรักษา
     การรักษาหลักในโรคนี้คือการใช้ยารักษาโรคจิต ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าในปัจจุบันเชื่อว่าสาเหตุของโรคจิตเภทนี้เป็นมาจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ซึ่งยารักษาโรคจิตจะไปช่วยแก้ไขหรือปรับระดับของสารเคมีต่างๆ ให้เข้าที่ทำให้อาการโรคจิตดีขึ้น อย่างไรก็ตามปัญหาส่วนหนึ่งของผู้ป่วยเกี่ยวข้องกับการปรับตัวต่อโรค ต่อสังคมรอบข้าง ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่อาจแก้ไขได้ด้วยยา การช่วยด้วยจิตบำบัดหรือการให้คำแนะนำของแพทย์จะช่วยในส่วนนี้อย่างมาก
 
 

1. ยารักษาโรคจิต เป็นหัวใจของการรักษา นอกจากเพื่อการควบคุมอาการแล้ว ยังสามารถลดการกำเริบซ้ำของโรคได้ พบว่าผู้ป่วยที่กลับมีอาการกำเริบซ้ำอยู่บ่อย ๆ นั้น ส่วนใหญ่มีปัญหามาจากการขาดยา

   
  การรักษานั้นอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วง
 

 

1.ระยะควบคุมอาการ เป็นการรักษาในช่วงอาการกำเริบ เป้าหมายของการรักษาในระยะนี้ คือ การควบคุมอาการให้สงบลงโดยเร็ว ยามีส่วนสำคัญมาก จะทำให้อาการของผู้ป่วยสงบลงโดยเร็ว โดยกลางคืนนอนหลับได้ อารมณ์หงุดหงิดหรือพฤติกรรมก้าวร้าวลดลง อาการกระสับกระส่าย หรือวุ่นวายก็จะดีขึ้น ซึ่งมักเห็นผลในการรักษาเช่นนี้ได้ภายในสัปดาห์แรก ส่วนอาการประสาทหลอนและหลงผิดจะใช้เวลาหลายสัปดาห์
ในช่วงที่รักษาด้วยยารักษาโรคจิต ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการข้างเคียงจากยา เช่น มือสั่น ทำอะไรช้าลง หรือปวดเกร็งกล้ามเนื้อ เมื่อแพทย์พบก็อาจลดขนาดยารักษาโรคจิตลง หรือหากเห็นว่าลดขนาดยายังไม่ได้เพราะอาการยังมากอยู่ ก็จะให้ยาช่วยแก้อาการข้างเคียงเหล่านี้ร่วมไปกับยารักษาโรคจิต

2.ระยะให้ยาต่อเนื่อง หลังจากที่อาการสงบแล้ว ผู้ป่วยยังจำเป็นต้องกินยาต่อเนื่องเพื่อป้องกันมิให้อาการกำเริบ โดยทั่วไปเมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้นสักช่วงหนึ่งแล้ว (เป็นเดือนๆ) แพทย์จะค่อย ๆ ลดยาลง จนถึงขนาดต่ำสุดที่คุมอาการได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละคน
อาการเริ่มแรกที่แสดงว่าจะกลับมาป่วยอีกในผู้ป่วยแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ส่วนใหญ่จะเริ่มด้วยอาการนอนไม่ค่อยหลับ หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย บางคนอาจเก็บตัวมากขึ้น หรือหันมาสนใจเรื่องไสยศาสตร์ บางคนมีความรู้สึกว่าเหมือนกับมีอะไรแปลกๆ เกิดขึ้นกับตนเอง แต่ก็บอกได้ไม่ชัดว่าเป็นอะไร บางคนมักกลับมาบ่นให้ที่บ้านฟังว่าถูกเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานกลั่นแกล้ง ข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่งคือ อาการเริ่มแรกที่จะกลับมาเป็นในแต่ละคนมักจะเป็นแบบเดิมๆ ทุกครั้ง

 
   
  จะต้องกินยาไปนานเท่าไร
 

    ระยะเวลาในการรักษานั้น ส่วนใหญ่เห็นว่าในผู้ที่เป็นครั้งแรกนั้นหลังจากอาการโรคจิตดีขึ้นแล้วควรกินยาต่อไปอีกประมาณ 1 ปี หากผู้ป่วยมีอาการกำเริบครั้งที่สองควรกินยาต่อเนื่องไประยะยาว เช่น 5 ปี หากเป็นบ่อยกว่านี้ อาจต้องกินยาต่อเนื่องไปตลอด

   
 

2.การดูแลรักษาด้านจิตใจและสังคม

 

   อาการของผู้ป่วยมักก่อให้เกิดปัญหาระหว่างตัวเขากับสังคมรอบข้าง แม้ในระยะอาการดีขึ้นบ้างแล้ว ปัญหาทางด้านสังคมก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งยาช่วยไม่ได้ นอกจากนี้อาการบางอย่าง เช่น อาการเฉื่อยชา แยกตัว ซึมเซา หรือภาวะท้อแท้หมดกำลังใจ มักไม่ค่อยตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา การช่วยเหลือในด้านจิตใจและสังคม ที่แพทย์หรือผู้รักษาอาจใช้ร่วมกับยา ได้แก่

   

2.1 การช่วยเหลือด้านจิตใจ ผู้ป่วยอาจมีความคับข้องใจ รู้สึกเครียด ไม่ทราบว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรกับปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งปัญหาภายในตนเองและปัญหาที่มีกับคนรอบข้าง ผู้รักษาจะให้คำแนะนำที่ผู้ป่วยสามารถนำไปปฏิบัติได้

2.2 การให้ความรู้แก่ญาติและผู้ดูแลผู้ป่วย เกี่ยวกับเรื่องของโรคและปัญหาต่างๆ ของผู้ป่วยที่อาจเกิดขึ้น ผู้ปกครองมักเข้าใจว่าเป็นเพราะตนเลี้ยงดูไม่ดีจึงทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคจิตเกิดความรู้สึกผิด หรือกล่าวโทษตนเอง นอกจากนี้บางครอบครัวมีการใช้อารมณ์ต่อกันสูง และอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยเป็นเวลานานในแต่ละวัน ซึ่งอาจเป็นการไปเพิ่มความกดดันแก่ผู้ป่วย ทั้งสองกรณีนี้การทำครอบครัวบำบัดหรือให้ความรู้ในเรื่องโรค รวมทั้งสิ่งที่ญาติควรปฏิบัติต่อผู้ป่วย จะช่วยได้เป็นอย่างยิ่ง

2.3 กลุ่มบำบัด เป็นการจัดกิจกรรมกลุ่มระหว่างผู้ป่วยขณะที่ผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาล โดยส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกว่ามีเพื่อน มีคนเข้าใจ ไม่โดดเดี่ยว มีการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาและให้คำแนะนำแก่กัน ฝึกทักษะทางสังคม เน้นการสนับสนุนให้กำลังใจแก่กัน

2.4นิเวศน์บำบัด เป็นการจัดสภาพแวดล้อมในโรงพยาบาลเพื่อช่วยส่งเสริมขบวนการรักษา ประกอบด้วย การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ภายในหอผู้ป่วย การจัดสภาพแวดล้อมภายในหอผู้ป่วยให้น่าอยู่ ผู้ป่วยต้องช่วยในกิจกรรมต่าง ๆ เท่าที่พอทำได้ เพื่อส่งเสริมความรู้สึกเชื่อมั่นในตนเองของผู้ป่วย ลดความรู้สึกว่าการอยู่โรงพยาบาลเหมือนอยู่ให้ผ่านพ้นไปวันๆ เท่านั้น

 
 

 

Bipolar disorder

       

โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว หรือโรคไบโพลาร์ (Bipolar disorder)

   
 

            เป็นความผิดปกติทางอารมณ์อย่างหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีลักษณะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมาระหว่างอารมณ์ซึมเศร้า (major depressive episode) สลับกับช่วงที่อารมณ์ดีมากกว่าปกติ (mania หรือ hypomania episode) ซึ่งอาการเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยทั้งในด้านการงาน การประกอบอาชีพ ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น และการดูแลตนเองอย่างมาก ทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติ

 
 

         ในระยะซึมเศร้า ผู้ป่วยจะมีอาการต่อไปนี้ติดต่อกันยาวนานมากกว่า 2 อาทิตย์ คือจะรู้สึกเบื่อหน่ายไปหมด จากเดิมชอบอ่านหนังสือ ติดละคร หรือดูข่าว ก็ไม่สนใจ บางคนจะมีอาการซึมเศร้า อารมณ์อ่อนไหวง่าย ร้องไห้ง่าย บางคนจะหงุดหงิดง่ายขี้โมโห ทนเสียงดังไม่ได้ ไม่อยากให้ใครมาวุ่นวาย อาการเบื่ออาจเป็นมากจนไม่อยากคุยกับใคร รู้สึกเบื่ออาหารได้ทำให้น้ำหนักลด ความจำก็แย่ลง ทำให้มักหลงลืมเพราะสมาธิไม่ดี ใจลอย ตัดสินใจอะไรก็ไม่ได้ เพราะไม่มั่นใจ ผู้ป่วยจะมองสิ่งต่างๆ ในแง่ลบ  คิดว่าตัวเองเป็นภาระของคนอื่น  รู้สึกไร้ค่า ไม่มีค่า  ไม่มีใครสนใจตนเอง อนาคตคงเลวร้าย ถ้าตายไปคงจะดีจะได้พ้นทุกข์เสียที ซึ่งอาการจะเหมือนคนเป็นโรคซึมเศร้า

       
 

         ในระยแมเนีย ผู้ป่วยจะมีอาการเปลี่ยนไปอีกขั้วหนึ่งเลย คือจะมีความมั่นใจในตัวเองสูงมาก  รู้สึกว่าตัวเองเก่ง ตัวเองมีความสามารถ ความคิดแล่นเร็วจนบางครั้งตัวเองก็พูดไม่ทันความคิด  การพูดจาจะลื่นไหล พูดเก่ง พูดมาก คล่องแคล่ว มนุษยสัมพันธ์ดี  อารมณ์ดี  ใช้จ่ายเกินตัว มีโครงการต่างๆที่จะทำมากมายแต่เป็นโครงการที่ไม่มีทางเป็นไปได้หรือเกินตัว  ไม่นอนต้องการการพักผ่อนน้อยกว่าปกติ ด้วยความที่สนใจสิ่งต่างๆ มากมาย จึงทำให้วอกแวกมาก ไม่สามารถอดทนทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นานๆ ทำให้มองเหมือนว่าผู้ป่วยทำงานเยอะ แต่ก็ไม่เสร็จเป็นชิ้นเป็นอันสักอย่าง ขาดความยับยั้งชั่งใจพอนึกอยากจะทำอะไรต้องทำทันที ค่อนข้างเอาแต่ใจตนเอง หากมีใครมาห้ามหรือขัดใจจะโกรธรุนแรงถึงขั้นอาละวาดก้าวร้าวได้

   

 

 
 

สาเหตุ
โรคเกิดได้จากหลายปัจจัยร่วมกัน คือ
 
   

1. ปัจจัยด้านพันธุกรรม โดยพบว่าเด็กที่เกิดจากพ่อหรือแม่ที่เป็นโรคนี้มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงกว่าคนทั่วไปถึง 4 เท่า
2. ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมองเช่น norepinephrine, dopamine, serotonine
3. ปัจจัยด้านจิตสังคมเช่น ความเครียดหรือการประสบกับวิกฤติชีวิตรุนแรง การติดยาหรือใช้สารเสพติด รวมทั้งปัญหาบุคลิกภาพ ล้วนมีส่วนส่งผลให้เกิดอาการของโรคนี้ได้

 
       
 

การดำเนินโรค
 
   

          อัตราการเกิดโรคครั้งแรกพบบ่อยที่สุดในช่วงอายุ 15-19 ปี และรองลงมา คือ อายุ 20-24 ปี ถือเป็นโรคที่มีการดำเนินโรคเรื้อรัง และมีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้สูง ประมาณ 70-90% ไบโพลาร์เป็นโรคที่สามารถรักษาได้และกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ หากไม่ได้รับการเอาใจใส่ ติดตามดูแลอย่างเหมาะสม

 
   
 

การรักษา
 
  1. การรักษาด้วยยา แบ่งออกเป็นระยะต่างๆคือ  
   

1.1 การรักษาระยะเฉียบพลัน เป็นการรักษาเพื่อลดอาการของผู้ป่วย และควบคุมอาการให้ดีขึ้นโดยเร็วที่สุดมักอยู่ใน 3-8 สัปดาห์หลังจากเริ่มรักษา

1.2 การรักษาระยะต่อเนื่อง หลังจากที่อาการดีขึ้นแล้ว ผู้ป่วยบางรายอาจยังเหลืออาการอยู่บ้าง ระยะนี้จะยังให้ยาขนาดเดิมกับที่ได้ในระยะเฉียบพลับหรืออาจลดขนาดลงเพื่อลดผลข้างเคียง เป้าหมายเพื่อให้อาการไม่หลงเหลือ และป้องกันการกำเริบซ้ำของอาการ ระยะเวลาประมาณ 2-6 เดือน

1.3 การป้องกันระยะยาว เป้าหมายเพื่อป้องกันการเกิดโรคซ้ำหลังจากอาการดีขึ้นมาก ระยะเวลาแตกต่างกันในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเช่น ความรุนแรงของอาการ ความบ่อยของการเกิด

 
   

 

 
  2. การรักษาด้านจิตสังคม
 

 

2.1 Psychoeducation คือการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและครอบครัวเกี่ยวกับตัวโรคทั้งหมด วึ่งช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจและมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น

2.2 Cognitive behavior therapy มุ่งเน้นที่การปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของผู้ป่วย

2.3 Family Intervention ประกอบด้วยการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและครอบครัว ส่งเสริมให้มีการสื่อสารกันในครอบครัว และช่วยให้ผู้ป่วยกับครอบครัวมีวิธีการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีระยะเวลาของการหายจากตัวโรคนานขึ้น

 
   
 
 

 

โรคซึมเศร้า

       
  โรคซึมเศร้า (Major depressive disorder)  
 

           มีผู้รู้จักโรคนี้ไม่มากนัก บางคนเป็นโดยที่ตัวเองไม่ทราบ คิดว่าเป็นเพราะตนเองคิดมากไปเอง ทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงที  บางคนเริ่มคุ้นหูจากคำเล่าลือว่า เมื่อเป็นแล้วจะมีอาการเครียด เศร้า และมีแนวโน้มทำให้คิดฆ่าตัวตาย
          
           สาเหตุการฆ่าตัวตายที่พบได้บ่อยและคนไม่ค่อยทราบกันคือโรคซึมเศร้า เนื่องจากมีคนจำนวนมาก ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแต่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย ซึ่งหากป่วยแล้วปล่อยไว้นานๆ โดยไม่ได้รักษา ก็จะส่งผลให้มีความคิดที่จะฆ่าตัวตายได้

   
 

หากคุณหรือคนใกล้ชิดมีอาการเหล่านี้มากกว่า  5 ข้อติดต่อกันเป็นเวลานานมากกว่า 2 สัปดาห์  ให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน ว่าอาจถูกโรคซึมเศร้ามาเยือนเข้าแล้ว

   

1. อารมณ์ซึมเศร้า หงุดหงิด ก้าวร้าว
2. ขาดความสนใจสิ่งรอบข้างหรือกิจกรรมที่เคยชอบหรือสนใจ
3. สมาธิเสีย คือ ไม่ค่อยมีสมาธิเวลาทำสิ่งต่างๆ
4. รู้สึกอ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง
5. เชื่องช้า ทำอะไรก็เชื่องช้าไปหมด
6. รับประทานอาหารมากขึ้น หรือรับประทานน้อยลง
7. นอนมากขึ้น หรือนอนน้อยลง
8. ตำหนิตัวเอง  รู้สึกตัวเองไร้ค่า ไม่มีค่า ขี้น้อยใจ
9. มีความคิดอยากตาย อยู่เรื่อยๆแต่ไม่ได้วางแผนชัดเจน หรือบางคนถ้าเป็นเยอะก็อาจมีการวางแผนหรือพยายามฆ่าตัวตาย หากญาติหรือคนใกล้ชิดเห็นเขามีท่าทีบ่นไม่รู้จะอยู่ไปทำไม หรือพูดทำนองฝากฝัง สั่งเสีย อย่ามองข้ามหรือต่อว่าเขาว่าอย่าคิดมาก แต่ให้สนใจพยายามพูดคุยกับเขา รับฟังสิ่งที่เขาเล่าให้มากๆ ถ้ารู้สึกไม่เข้าใจหรือมองแล้วไม่ค่อยดี ขอแนะนำให้รีบพาไปพบจิตแพทย์เพื่อรักษาโดยเร็ว

 
   

 

 
  สาเหตุ  
   

1. ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคแบบชีวจิตสังคม เช่น ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ครอบครัวแตกแยก

2. ปัจจัยด้านพันธุกรรมเช่น ประวัติโรคในกลุ่มโรควิตกกังวลหรือโรคซึมเศร้าในครอบครัว

3. ปัจจัยด้านสารเคมีในสมอง พบว่าระบบสารเคมีในสมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติอย่างชัดเจน โดยมีสารที่สำคัญได้แก่ ซีโรโทนิน (serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) ลดต่ำลง รวมทั้งอาจมีความผิดปกติของเซลล์รับสื่อเคมีเหล่านี้ ปัจจุบันเชื่อว่าเป็นความบกพร่องในการควบคุมประสานงานร่วมกัน มากกว่าเป็นความผิดปกติที่ระบบใดระบบหนึ่ง ยาแก้เศร้าที่ใช้กันนั้นก็ออกฤทธิ์โดยการไปปรับสมดุลย์ของระบบสารเคมีเหล่านี้

4. ลักษณะนิสัย บางคนมีแนวคิดที่ทำให้ตนเองซึมเศร้า เช่น มองตนเองในแง่ลบ มองอดีตเห็นแต่ความบกพร่องของตนเอง หรือ มองโลกในแง่ร้าย เป็นต้น บุคคลเหล่านี้เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดัน เช่น ตกงาน หย่าร้าง ถูกทอดทิ้งก็มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการซึมเศร้าได้ง่าย ซึ่งหากไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมอาการอาจมากจนกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้

 
       
  การรักษา  
 

           โรคซึมเศร้ารักษาได้  การรักษามี 2 องค์ประกอบด้วยกัน อย่างแรกคือ ยา ที่จะช่วยปรับสารสื่อประสาทในสมองให้สมดุล องค์ประกอบที่ 2 คือ การทำจิตบำบัด  เช่น ผู้ป่วยมีปัญหาที่การควบคุมอารมณ์ ก็จัดการแก้ไขที่การควบคุมอารมณ์
           ในผู้ป่วยบางคนประมาณ 1-2 เดือนหลังจากเริ่มรักษา ก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ  แต่หากไม่รักษาชีวิตอาจจะพัง เช่น หย่าร้าง  มีปัญหาด้านการเรียน  ต้องออกจากงาน หรือถึงขั้นฆ่าตัวตาย

 
       
 

1. การรักษาด้วยยา แบ่งออกเป็น 3 ระยะ

 
   

1.1 การรักษาระยะเฉียบพลัน เป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยไม่มีอาการหลงเหลือเลย และสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ ยาหลักคือยาแก้ซึมเศร้า

1.2 การรักษาระยะต่อเนื่อง คือการให้การรักษาต่อจากระยะเฉียบพลันต่ออีกประมาณ 4-9 เดือนหลังจากผุ้ป่วยหายแล้ว โดยให้ยาในขนาดเดียวกับที่ได้ในระยะเฉียบพลัน เป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงของการกลับเป็นซ้ำ

1.3 การป้องกันระยะยาว เป้าหมายเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำของตัวโรคหลังจากอาการดีขึ้นมากแล้ว ระยะเวลาในการให้ยาในระยะนี้จะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นกับปัจจัยเสี่ยง ซึ่งโดยทั่วไปมักให้ 2 ปี

 
     
  2. จิตบำบัด  
   

2.1 Cognitive behavior therapy มุ่งแก้ไขแนวคิดรวมถึงการปรับพฤติกรรมในแง่ลบของผู้ป่วยให้สอดคล้องกับความจริง และมีทักษะในการแก้ปัญหาที่ดีขึ้น

2.2 Interpersonal therapy ช่วยแก้ปัญหาเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับผู้อื่น มุ่งเน้นปัญหาความสัมพันธ์ในปัจจุบัน

 
   
 
 

 

โรคแพนิค

       
 
  โรคแพนิค (Panic disorder)
 

           พบบ่อยในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น อาการหลักของโรคนี้ ได้แก่ อาการตกใจกลัวอย่างรุนแรงหรือที่เรียกว่าอาการแพนิค (panic attack) ที่เกิดขึ้นหลาย ๆ ครั้ง โดยมากจะเกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ และจะมีอาการอยู่สั้นๆประมาณ 5-10นาทีไม่นานเกิน 30 นาที ทำให้ผู้ป่วยกลัวที่จะเกิดอาการซ้ำอีก กังวลกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากอาการ หรือกลัวเกิดอาการซ้ำในที่สาธารณะแล้วไม่มีใครช่วยเหลือจนทำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการออกไปไหนมาไหน จึงมีผลรบกวนกับชีวิตประจำวันในด้านต่าง ๆเช่น ทำให้ความสามารถในการประกอบอาชีพลดลง หรืออาจทำให้ความสัมพันธ์กับบุคคลใกล้ชิด ตึงเครียดมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากอาการที่มีทำให้ผู้ป่วยมักคิดว่าตนเองเป็นโรคหัวใจหรือ โรคร้ายแรง แต่เมื่อไปพบแพทย์บ่อยๆ แล้วพบว่าผลการตรวจร่างกายและการทดสอบพิเศษไม่พบความผิดปกติจนบางครั้งญาติอาจคิดว่าผุ้ป่วยแกล้งทำ

 
 

อาการของแพนิคมีได้หลายอย่าง ได้แก่

   

1.ใจเต้นเร็ว ลั่นเหมือนตีกลอง
2. เหงื่อแตก
3. เจ็บบริเวณหน้าอก
4. อ่อนเพลีย
5. หายใจติดขัด หายใจไม่อิ่ม
6. คลื่นไส้หรือปั่นป่วนในท้อง
7. รู้สึกมึนงง โคลงเคลง เป็นลม
8. ความรู้สึกเหมือนตกอยู่ในความฝัน
9. มีการรับรู้บิดเบือนไป
10. รู้สึกชา หรือซ่า ตามปลายเท้า
11. ความกลัวอย่างท่วมท้น ร่วมกับความรู้สึกสังหรณ์ว่ามีบางอย่างที่น่ากลัวกำลังเกิดขึ้นกับตัวเองและเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้กลัวว่าจะตาย
12. ตัวร้อนวูบวาบ หรือตัวสั่น
13. ควบคุมตนเองไม่ได้เหมือนจะเป็นบ้า หรือแสดงบางอย่างที่น่าอายออกไป

โดยที่จะมีอาการหลาย ๆ อย่างดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน แต่ไม่จำเป็นต้องมีทุกอาการ

 
   

 

 
 

สาเหตุ

มีปัจจัยหลายประการที่อาจประกอบกันทำให้เกิดอาการ เช่น
 
   

1. ศูนย์ควบคุมการทำงานของสมองและจิตใจเกี่ยวกับความหวาดกลัวไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ
2. พันธุกกรรม โรคนี้อาจพบได้ในครอบครัวเดียวกัน
3. มีความผิดปกติของสารสื่อประสาทบางชนิดเช่น ซีโรโทนิน (serotonin) นอร์อิพิเนฟฟริน (norepinephrine)

 
       
 

การดำเนินโรค

 
   

โรคนี้มักเกิดในช่วงวัยรุ่นตอนปลาย หรือผุ้ใหญ่ตอนต้น โดยทั่วไปมักเป็นเรื้อรัง

 
   
 

การรักษา

 
   

          ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช และให้มั่นใจว่าโรคนี้ไม่เป็นอันตรายถึงเสียชีวิตเหมือนที่ผู้ป่วยมักกลัว ในปัจจุบันวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด คือการรักษาทางยาร่วมกับการรักษาทางจิตสังคม เช่นการทำพฤติกรรมบำบัด การผึกการผ่อนคลาย หรือการทำจิตบำบัด ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นมาก อย่างเห็นได้ชัดภายหลังเริ่มการรักษาแล้ว 6-8 สัปดาห์ เมื่ออาการดีขึ้นแล้วแพทย์ยังคงให้การรักษาต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 6-8 เดือนเพื่อป้องกันการกำเริบของอาการการหยุดยา ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรหยุดยาทันที เพราะจะเกิดอาการของการหยุดยา หรือมีอาการเก่ากำเริบ

 
     
 

การฝึกควบคุมการหายใจเพื่อการผ่อนคลาย

 
   

1. นอนหงายตามสบายบนเตียง หรือพื้นที่ในบริเวณที่สงบ
2. มือทั้งสองประสานวางอยู่บนหน้าท้องไม่เกร็ง ผ่อนคลายกล้ามเนื้ออกและหัวไหล่
3. สูดลมหายใจเข้าช้าๆพร้อมทั้งสังเกตและจดจ่ออยู่ที่การเคลื่อนไหวของลมหายใจที่ผ่านรูจมูกเข้าไปลึกเต็มที่จนหน้าท้องขยายขึ้น รู้สึกได้จากการที่มือทั้งสองถูกยกขึ้นช้า ๆ และหัวไหล่เคลื่อนขึ้น
4. เมื่อหายใจเข้าเต็มที่แล้ว นับ 1,2,3 ในใจช้า ๆ
5. ผ่อนลมหายใจออกช้า ๆ พร้อมทั้งสังเกต และจดจ่อที่การเคลื่อนไหวของลมหายใจที่เคลื่อนที่ออกผ่านรูจมูกจนหน้าท้องแฟบลง มือทั้งสองลดต่ำลง
6. เมื่อหายใจออกจนหมด นับ 1,2,3 ในใจช้า ๆ
7. เริ่มหายใจเข้าและหายใจออกสลับกันไป เป็นจังหวะสม่ำเสมออย่างน้อย 10 ครั้ง
8. เมื่อมีความชำนาญอาจทำเวลานั่งโดยพิงเก้าอี้ตามสบาย มือทั้งสองวางไว้ที่หน้าขาหรือประสานกันอยู่ที่หน้าท้องวิธีการเหมือนกับการควบคุมการหายใจในท่านอนหงายทุกประการ